ทำไมเด็กๆ ถึงเขียนหนังสือกลับด้าน
| Mirror writing

19 Apr 2022
LittleLot x น้องหมอขอตอบ

เด็กๆ เขียนตัวอักษรกลับด้านเหมือนส่องกระจก เกิดจากอะไร?

วันนี้ น้องหมอขอตอบ จะมาไขข้อสงสัยให้เรากันค่ะ

การเขียนตัวอักษรกลับด้านหรือกลับหัว เหมือนส่องกระจก (Mirror-writing) ในความเป็นจริงแล้วสามารถพบในเด็กพัฒนาการปกติที่กำลังเรียนรู้ตามวัยได้ ในช่วงอายุประมาณ 4-6 ปี

หลักๆ เกิดจากพัฒนาการเรื่องการรับรู้และแยกแยะตำแหน่งของวัตถุ (Position in space) ที่ยังไม่สมบูรณ์ คือ ไม่สามารถแยกตำแหน่ง ซ้าย-ขวา หน้า-หลัง ใน-นอก บน-ล่าง ได้ ทำให้เกิดความยากลำบากในการรับรู้ตำแหน่งของวัตถุที่มีความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม หรือ Spatial perception รวมถึงการแยกความแตกต่างของภาพ


กิจกรรมอะไรที่ช่วยแก้ไขการเขียนตัวอักษรกลับด้านได้บ้าง ?

การส่งเสริมพัฒนาการในการรับรู้และแยกแยะตำแหน่งของวัตถุ (Position in space) สามารถใช้กิจกรรมที่ช่วยให้เด็กรู้จักความหมายของตำแหน่งง่ายๆ สอนคำศัพท์ที่สัมพันธ์กับตำแหน่งในชีวิตประจำวัน เช่น เกมส์ซ่อนของตามคำบอก อาจให้วางของไว้ใต้โต๊ะ บนเก้าอี้ เป็นต้น

ส่งเสริมกิจกรรมที่ให้เด็กแยกแยะภาพผ่านการสังเกต โดยเริ่มจากภาพง่ายๆ จนไปถึงภาพตัวอักษรที่ยากมากขึ้น และซับซ้อนมากขึ้นตามลำดับ.ในกรณีที่เด็กที่ไม่สามารถอยู่นิ่งได้ hyperactive อาจส่งเสริมกิจกรรมที่ต้องใช้พลังงาน เช่นการออกกำลังกาย การเล่นเครื่องเล่นปีนป่ายตามวัย ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ เป็นต้น



โดยหากยังพบการเขียนกลับด้านหลังจากอายุ 7 ปีขึ้นไปแล้ว เราต้องใส่ใจเป็นพิเศษ เนื่องจากนอกจากเด็กๆ ทั่วไป ปัญหาดังกล่าวยังมักจะพบมากในเด็กที่มีความบกพร่องด้านการเรียนรู้ หรือ Learning Disability (LD) และในเด็กที่มีภาวะสมาธิสั้น หรือ Attention Deficit Hyperactivity Disorder (ADHD)


ทำไมจึงพบการเขียนกลับด้านในเด็ก LD และ ADHD ได้บ่อย ?

โดยในเด็ก LD ที่มีความบกพร่องในการเรียนรู้ในลักษณะบกพร่องด้านการเขียน (Dysgraphia) เด็กจะเขียนอักษรกลับด้าน ตัวหนังสือบิดเบี้ยว ไม่ตรงบรรทัด สะกดคำผิดบ่อยๆ เว้นวรรคไม่เหมาะสม โดยปัญหาเหล่านี้มีผลมาจากความบกพร่องของกระบวนการการเรียนรู้ ที่ส่งผลต่อพฤติกรรมด้านการเขียน

ในขณะที่เด็ก ADHD หรือ เด็กที่มีภาวะสมาธิสั้นนั้นจะมีความยากลำบากคงสมาธิ จดจ่อ และคงความสนใจเพื่อจดจำรายละเอียดของข้อมูลมากกว่าเด็กทั่วไป ทำให้ทักษะในการจัดการข้อมูลที่ได้รับจากการเรียนรู้ลดลง อาจสับสนตัวอักษรที่คล้ายกัน เช่น b, d, p ,q ทำให้เขียนตัวอักษรผิดพลาด

อย่างไรก็ตาม หากพบว่าเด็กๆ มีพฤติกรรมการเขียนกลับด้านดังกล่าว อย่าพึ่งดุว่าว่าไม่ตั้งใจเรียนเลยนะคะ ค่อยๆ ช่วยกันทบทวนปัญหา หากไม่แน่ใจว่าอาการเหล่านี้เป็นอาการที่น่ากังวลหรือไม่ น้องหมอขอแนะนำให้ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซักประวัติและตรวจร่างกายเพิ่มเติม เพื่อช่วยในการวินิจฉัย และเพื่อการส่งเสริมพัฒนาการที่เหมาะสมต่อไปนะคะ


#LittleLot #น้องหมอขอตอบ #LittleLotxน้องหมอขอตอบ #mirrorwriting #พัฒนาการเด็ก

< กลับสู่หน้ารวมบทความ