Skinship ในแบบแม่ลูก
| การกอดกันสำคัญอย่างไร

7 June 2022
LittleLot x น้องหมอขอตอบ

กอดกันหน่อยได้ไหม?  Skinship ในแบบแม่ลูกนั้นให้อะไรมากกว่าที่เราคิด วันนี้ น้องหมอขอตอบ จะมาเล่าให้พวกเราฟังกันค่ะ

อ้อมกอดของแม่ ไม่ได้ให้แค่เพียงความอบอุ่น
แต่ยังช่วงส่งเสริมพัฒนาการทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ


หากจะพูดเรื่องความผูกพันในครอบครัวผ่านการสัมผัส น้องหมอก็คงต้องขอเล่าเรื่องการทดลองของคุณ Harry F. Harlow นักจิตวิทยาชื่อดังชาวอเมริกัน ที่ทำการทดลองสังเกตพฤติกรรมของลูกลิงที่โดนจับแยกกับแม่

คุณ Harry ได้ทำการทดลอง ศึกษาพฤติกรรมของลิง Rhesus โดยการทดลองดังกล่าวจะแยกลูกลิงแรกเกิดออกจากแม่ลิง แล้วสร้างโดยหุ่นแม่ลิงจำลองที่ทำจากโครงลวดตาข่ายขึ้นมา 2 ตัว

แม่ลิงปลอมตัวหนึ่งผ้าหนานุ่มคลุมไว้ เป็นตัวแทนของความอบอุ่นและการสัมผัส.และแม่ลิงปลอมอีกตัวนึงไม่มีผ้าห่อแต่มีขวดนม เป็นตัวแทนของอาหาร

แรกเริ่มได้มีการตั้งสมมติฐานว่า ลูกลิงน่าจะเลือกแม่ลิงปลอมที่มีขวดนม แต่ผลการทดลองกลับแสดงให้เห็นว่า ลูกลิงเลือกที่จะอยู่กับแม่ลิงที่เป็นผ้าหนานุ่มมากกว่า เมื่อหิวจึงจะไปดื่มนมจากแม่ลิงปลอมที่มีขวดนม และก็จะรีบกลับมาที่แม่ลิงที่เป็นผ้าหนานุ่มหลังจากอิ่มแล้ว

นอกจากนี้การทดลองยังได้ผลเพิ่มเติมว่า ลูกลิงที่ได้อยู่กับแม่ลิงปลอมที่เป็นผ้าหนานุ่ม หากมีสิ่งแปลกใหม่ ลูกลิงจะกล้าออกไปสำรวจสิ่งนั้นๆ ในทางกลับกันหากนำแม่ลิงปลอมที่เป็นผ้าหนานุ่มออกไป แล้วเหลือแต่แม่ลิงปลอมที่มีขวดนม ลูกลิงจะมีอาการหวาดระแวง สั่นกลัว ตัวเกร็ง

จากการทดลองดังกล่าว คุณ Harry จึงได้ข้อสรุปว่า

ความผูกพันระหว่างแม่กับลูก ไม่ได้เกิดจากการให้นมให้อาหารเท่านั้น แต่ การให้ความอบอุ่นความสบายใจผ่านการสัมผัส หรือ “Contact Comfort”

“Contact Comfort” มีผลเป็นอย่างมากต่อการสร้างความผูกพัน และความผูกพันนั้นเองที่มีผลต่อการพัฒนาทางด้านจิตใจ ให้มีความมั่นใจ และกล้าที่จะออกไปเจอโลกภายนอก ค้นพบสิ่งใหม่ๆ ซึ่งผู้เลี้ยงดูกับเด็กไม่จำเป็นต้องเป็นแม่กับลูกเท่านั้น ขอเพียงแต่เป็นคนที่เด็กรู้สึกมั่นใจ รู้สึกมั่นคง ว่าคนคนนั้นจะไม่หายไปไหน เป็นพื้นที่ปลอดภัยที่สามารถไว้วางใจได้ (basic trust)

ดังนั้นหากเลี้ยงดูลูกด้วยความอบอุ่น ให้ความอบอุ่นจากการสัมผัส (Contact Comfort) ด้วยการอุ้ม การกอดบ่อยๆ อย่างทะนุถนอม เมื่อถึงวัยที่เขาพร้อม เริ่มคลานได้ เริ่มสนใจสิ่งต่างๆ ลูกก็จะกล้าที่จะสำรวจสิ่งต่างๆรอบตัวมากขึ้น เพราะเขามั่นใจ ว่าตนเองสามารถกลับมาสู่สถานที่ที่ปลอดภัยของเขาได้เสมอไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น

นอกจากพัฒนาการทางด้านจิตใจแล้ว เรายังพบว่าการกอด หรือการสัมผัสนั้น ยังทำให้เกิดการหลั่งฮอร์โมนออกซิโทซิน (Oxytocin) หรือ ที่มีชื่อเล่นว่าเป็นฮอร์โมนแห่งความรัก


ฮอร์โมนออกซิโทซิน (Oxytocin) หรือ ฮอร์โมนแห่งความรัก

ออกมาจากต่อมใต้สมองส่วนหลัง ช่วยให้เกิดความผูกพัน ความรัก ช่วยลดความเครียดและความวิตกกังวล และทำให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น.นอกจากนี้ฮอร์โมนออกซิโทซินเองยังช่วยให้คุณแม่ผลิตน้ำนมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ลูกได้รับน้ำนมอย่างเพียงพอและช่วยเสริมสร้างให้ภูมิคุ้มกันของลูกให้แข็งแรงมากขึ้นอีกด้วย

สุดท้ายนี้น้องหมอคิดว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดที่การกอดหรือการสัมผัสมอบให้ คือการสื่อสารที่เข้าใจง่ายที่สุด ที่ทำให้ลูกรับรู้ได้ถึงความรักความอบอุ่น ให้ลูกสัมผัสได้ถึงความมั่นคงปลอดภัยจากอ้อมแขนของคุณพ่อคุณแม่ได้อย่างชัดเจนที่สุดแล้วค่ะ

กอดกันบ่อยๆนะคะ

#LittleLot #น้องหมอขอตอบ #LittleLotxน้องหมอขอตอบ #Skinship #Skinshipในแบบแม่ลูก #พัฒนาการเด็ก #การกอดลูก

< กลับสู่หน้ารวมบทความ